วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่


สถานที่ท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่

 อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์


           เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมากที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในประเทศไทย ที่งดงามไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวบนเขา ถ้ำ น้ำตก เดินป่า กางเต้นท์พักแรมกลางป่า ทั้งมีรีสอร์ต และบ้านพักของอุทยานฯ ไว้คอยบริการนักท่องเที่ยว ถ้าจะเที่ยวในแบบขอพักอยู่ตามบ้านชาวบ้านที่ยินดีรับแขกเข้าพัก โดยใช้ชีวิตประจำคล้ายสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว จะยิ่งซาบซึ้ง ได้สัมผัสกับน้ำใจ อาหาร และขนบธรรมเนียมประเพณีชาวเหนืออย่างดื่มด่ำ

         บนยอดดอยอินทนนท์ มีผืนป่าดิบดึกดำบรรพ์อันกว้างใหญ่สมบูรณ์ปกคลุม ซึ่งน้อยคนนักจะได้สัมผัสธรรมชาติที่แท้จริงของภูเขาที่สูงที่สุดของประเทศ ในอดีตมีเพียงเส้นทางเล็ก ๆ ตัดขึ้นไปสู่ป่าลึกอันชุ่มชื้นและหนาวเย็น จึงจะได้พบเห็นกล้วยไม้และพันธุ์ไม้ป่าที่สวยงามและหายากยิ่ง นับแต่รองเท้านารีอินทนนท์ที่ค้นพบเป็นแห่งแรกบนดอยนี้ เอื้องกำเบ้อ ซึ่งเป็นกล้วยไม้จำพวกซิมบิเดียม มีสีเหลืองทอง ยังมีกุหลาบพันปีที่มีลำต้นสูงใหญ่กว่ากุหลาบแดงบนภูหลวงและภูกระดึงมากมายนัก อีกทั้งดอกไม้ป่าอีกหลายชนิดที่ขึ้นดารดาษทั่วหุบเขา สลับกับพันธุ์ไม้จำพวกเฟิร์น ออสมันดา และอื่น ๆ เทือกเขาสูงมิได้มีเพียงยอดสูงสุด คือ ดอยอ่างกาหลวงเท่านั้น ทว่าเทือกเขาดอยอินทนนท์นั้นคือแนวทิวเขาสลับซับซ้อนตอนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัยอันพาดผ่านชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือลงไป มียอดดอยอินทนนท์ เป็นยอดสูงสุด สูงถึง 2,565 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นที่ประดิษฐานกู่พระอัฐิของพระเจ้าอินทวิชานนท์ ผู้ครองเชียงใหม่องค์ที่ 7 และเป็นที่ตั้งของสถานีเรดาร์ของกองทัพอากาศไทย ไม่ว่าฤดูกาลใด อากาศเย็นตลอดปี ราว 5 ? 18 องศาเซลเซียส

การเดินทาง
        จากตัวเมืองเชียงใหม่ เดินทางโดยรถยนต์ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 (เชียงใหม่-ฮอด) ผ่านอำเภอหางดงและอำเภอสันปาตอง ไปยังอำเภอจอมทอง ก่อนถึงอำเภอจอมทองประมาณ 2 กิโลเมตร เลี้ยวขวาตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1009 (จอมทอง-ดอยอินทนนท์) จะเริ่มเข้าเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่กิโลเมตรที่ 8 (น้ำตกแม่กลาง) และตัดขึ้นสู่ยอดดอยอินทนนท์เป็นระยะทางทั้งหมด 49.8 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ตั้งอยู่ที่กิโลเมตรที่ 31 



อุทยานแห่งชาติเชียงดาว 


             เป็นอุทยานแห่งชาติขนาดเล็กที่จัดตั้งขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2543 มีพื้นที่ 1,123.33 ตร.กม. ครอบคลุมพื้นที่ป่าบางส่วนในเขต อ.เชียงดาว ต่อเนื่องกับดอยหลวงเชียงดาวที่ติดชายแดนไทย-พม่า บริเวณที่ตั้งอุทยานเป็นน้ำตกหินปูนขนาดเล็ก มีน้ำใสเหมาะสำหรับเล่นน้ำ นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำที่เหมาะสำหรับลงอาบน้ำแร่ด้วย
ที่ตั้งและการเดินทาง ต.นาหวาย อ.เชียงดาว

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย



                มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่ อ.แม่ริม อ.หางดง อ.เมืองเชียงใหม่ และ อ.แม่แตง จัดตั้งขึ้นเป็น อช.เมื่อ พ.ศ.2524 โดยมียอดดอยสุเทพสูง 1,601 ม. และดอยปุยสูง 1,685 ม. ตั้งอยู่ทางตะวันตกของหุบเขาแม่น้ำปิง เป็นภูเขาหินแกรนิตล้วน พื้นที่ป่ามีความหลากหลายทั้งป่าผลัดใบ เช่น ป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดงดิบชื้น และเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำปิง คือห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน ห้วยแม่เหียะ อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 18 องศาเซลเซียส ตลอดปี ในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นมาก 

ใน อช. จะพบพืชไม้ดอกเกือบ 2,000 ชนิด และเชื่อว่ายังมีพันธุ์ไม้อื่นๆ ที่ยังไม่มีการศึกษาอีกเป็นจำนวนมาก ป่าผลัดใบที่นี่มีพันธุ์ไม้มากกว่าป่าผลัดใบอื่นๆ ในโลก มีลักษณะแบบป่าในยุโรปมีทั้งต้นสน แมกโนเลีย ต้นโอ๊ก และต้นเกาลัด 

ดอยผ้าห่มปก

                   ด้วยความสูง 2,285 เมตรจากระดับน้ำทะเล ทิวทัศน์จากบนดอยห่มปกซึ่งสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยจึงตระการตามาก หากมองไปทิศตะวันตกจะเห็นทิวเขาสลับซับซ้อนในประเทศพม่า ทางทิศใต้เห็นยอดดอยหลวงเชียงดาว ทางทิศตะวันออกเห็น อ.แม่อายฝาง และไชยปราการ ในหน้าหนาวทะเลหมอกขาวโพลนจะปกคลุมทั่วหุบเขาเบื้องล่างจนเป็นจุดชมทะเลหมอกที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่ง

               ดอยผ้าห่มปกอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก ผู้ที่จะชมทิวทัศน์และทะเลหมอกที่ยอดดอยต้องพักแรมที่บริเวณจุดพักแรมลานกางเต้นท์ดอยกิ่วลม จากนั้นเดินตามทางขึ้นเขาไม่สูงชันนัก ระยะทางประมาณ 3.5 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงก็จะถึงจุดชมทิวทัศน์ ดังนั้นจึงต้องออกเดินทางตั้งแต่ตอนตี 4 เพื่อให้ทันชมพระอาทิตย์ขึ้นท่ามกลางทะเลหมอก

            บนดอยผ้าห่มปกยังเป็นถิ่นอาศัยของผีเสื้อหายาก เช่น ผีเสื้อไกเซอร์ รวมทั้งนกเฉพาะถิ่นสวยงามและหายาก เช่น นกขัติยา นกปีกแพรสีม่วง ระหว่างทางจะผ่านป่าดิบเขาที่มีเฟินห่มคลุมลำต้นเขียวครึ้มจนดูคล้ายป่าดึกดำบรรพ์

สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์

                    สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 3,500 ไร่ เป็นสถานที่อนุรักษ์และรวบรวมพรรณไม้เป็นหมวดหมู่ตามวงศ์สกุลต่างๆ โดยจัดปลูกให้สอดคล้องกับธรรมชาติมากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มอาคารเรือนกระจกบนยอดเขาที่มีทั้งความสวยงามและความรู้ ทำให้สวนแห่งนี้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจและสถานที่ศึกษาธรรมชาติด้านพืชและภูมิทัศน์ที่โดดเด่นมาก 



                  การเดินทาง จาก อ.แม่ริม ใช้ทางหลวงหมายเลข 1096 (แม่ริม-สะเมิง) ประมาณ 12 กม. สวนสมเด็จฯ อยู่ทางซ้ายมือ 



                  ประวัติ ในเดือน ต.ค.2534 คณะกรรมการว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพแห่งประเทศไทยได้จัดการประชุมและมีมติว่าประเทศไทยยังไม่มีสวนพฤกษศาสตร์ที่แท้จริง จึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งองค์การสวนพฤกษศาสตร์ขึ้นในเดือน มี.ค.2535 โดยมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี และในปี พ.ศ.2537

 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อสวนพฤกษศาสตร์ในภาคเหนือว่า “สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


บ้านบ่อสร้าง


          บ้านบ่อสร้างมีชื่อเสียงมากในการทำร่ม โดยเฉพาะร่มกระดาษสา มีทั้งร่มที่ระลึกขนาดเล็กทำด้วยผ้าฝ้าย ไนลอน จนกระทั่งร่มขนาดใหญ่กว้างเกือบ 2 ม. ทำมาจากผ้าฝ้าย เพื่อใช้ในการประดับและตกแต่งบ้าน นอกจากนี้ยังมีพัดจีนขนาดใหญ่ด้วย ตลอดเส้นทางช่วงก่อนถึงบ้านบ่อสร้างเป็นแหล่งขายงานหัตถกรรมต่างๆ มากมาย กล่าวได้ว่าถนนสายนี้เป็นอีกเส้นหนึ่งที่นักช้อปปิงไม่ควรพลาด

        ที่ตั้ง จากสี่แยกหนองประทีปไปประมาณ 9 กม

โครงการหลวงห้วยผักไผ่ (สวนกุหลาบหลวง)

     ตั้งอยู่ที่บ้านแม่ฮะ ตำบลบ้านปง อำเภอหางดง บนเส้นทางสายสะเมิง-หางดง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 17 แยกเข้าไปประมาณ 300 เมตร สามารถเดินทางจากเชียงใหม่ได้สองทาง คือ ตามทางสายเชียงใหม่-แม่ริม-สะเมิง-หางดง ระยะทาง 32 กิโลเมตร และเส้นทางสายเชียงใหม่-หางดง-สะเมิง ระยะทาง 43 กิโลเมตร งานหลักของโครงการฯ คือ การรวบรวม ศึกษา และขยายพันธุ์กุหลาบชนิดต่างๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ “สวนกุหลาบหลวง” ซึ่งเป็นแปลงกุหลาบในเนื้อที่12 ไร่ ปลูกไล่ไปตามไหล่เขา มองดูสวยงาม นับเป็นสถานที่รวบรวมพันธุ์กุหลาบที่มากที่สุด ช่วงฤดูที่เหมาะแก่การท่องเที่ยว คือ เดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ตามเส้นทางสายนี้มีรีสอร์ท หลายแห่งที่มีการตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างสวยงาม และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม หรือไปแค้มป์ปิ้งได้ เช่น กฤษดาดอย อุทยานล้านนา



โครงการหลวงห้วยลึก
ตั้งอยู่ที่อำเภอเชียงดาวตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง ประมาณกิโลเมตรที่ 95 

เลี้ยวขวาเข้าไปประมาณ 500 เมตร โครงการนี้ดำเนินการจัดพื้นที่ทำกินให้แก่ชาวเขาเผ่าแม้ว กะเหรี่ยง และคนเมืองในบริเวณพื้นที่ โดยทำการส่งเสริม วิจัย และเพาะพันธุ์ให้แก่เกษตรกร ผลิตผล ได้แก่ ผักจำพวกผักสลัด แคนตาลูป ฯลฯ ไม้ดอก เช่น เบญจมาศ พีค็อก ฯลฯ ไม้ผล เช่น ทับทิม ฝรั่งคั้นน้ำ เป็นต้น ฤดูท่องเที่ยวของที่นี่จะอยู่ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม เนื่องจากมีผลิตผลให้ชมและซื้อหาได้


วัดถ้ำตับเต่า
อยู่ในเขตอำเภอไชยปราการ บนเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 120 และ 121 แยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 3 กิโลเมตร ภายในบริเวณวัดร่มรื่น มีหอพระไตรปิฎกสร้างอยู่กลางน้ำ สิ่งสำคัญในวัดคือถ้ำตับเต่า มีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว แต่มีความสวยงามไม่แพ้กัน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ ถ้ำตับเต่านี้แยกออกเป็น 2 ถ้ำ คือ ถ้ำผาขาว และถ้ำปัญเจค บริเวณหน้าถ้ำมีกุฏิและศาลาสำหรับพักผ่อน



บ่อน้ำร้อนฝาง
ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอฝางไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 8 กิโลเมตร ในเขตตำบลบ้านปิน น้ำร้อนเกิดจากหินแกรนิตที่มีความร้อนเกือบเดือด หรือเดือดระหว่าง 90 - 100 องศาเซลเซียส มีมากกว่า 50 แห่ง บ่อใหญ่มีไอน้ำพุ่งขึ้นสูงส่งกลิ่นกำมะถันกระจายไปทั่ว



ที่มา :http://www.thailands360.com